เตรียมพร้อมทำสูติบัตร

เตรียมพร้อมสำหรับการทำสูติบัตร

แจ้งเกิดลูกทั้งที ทั้งชีวิตนี้มีครั้งเดียว!!เหมือนจะไม่มีอะไร แต่ทำไมฟังแล้วตื่นเต้นยังไงไม่รู้
วันนี้แม่บรีเตรียมแชร์ จะแจ้งเกิดต้องทำอะไรบ้าง เตรียมเอกสารไว้ให้ครบล่วงหน้า ก็จะสบายใจกว่าค่ะเพราะคุณพ่อคุณแม่จะต้องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน

หากเกินกว่าวันที่กำหนด จะมีโทษปรับ 1,000 บาท และต้องใช้เอกสารเพิ่มเติม รวมถึงพยานบุคคลด้วยค่ะ

แบบนี้ก็ไม่ยากแล้ว.. “เพื่อลูก” ทั้งที แค่นี้ชิลๆอยู่แล้ว

 

แจ้งเกิดเด็ก ทำที่ไหน

แม้ว่าปัจจุบันทางโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาล จะมีบริการดำเนินเรื่องแจ้งเกิดเด็กให้ในกรณีที่เด็กเกิดในโรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือสถานพยาบาลนั้น ๆ แต่ในบางครั้งคุณอาจจะไม่สะดวกหรืออาจจะไม่ได้คลอดที่สถานพยาบาล การดำเนินเรื่องเองก็สามารถทำได้เช่นกันค่ะ
โดยคุณสามารถแจ้งเกิดได้ที่สำนักงานเขตในพื้นที่ที่เด็กเกิด หรือหากเป็นต่างจังหวัดก็ต้องไปแจ้งเกิดที่เทศบาล อำเภอ ในพื้นที่ที่เด็กเกิดเช่นกันค่ะ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ (ยกเว้นในกรณีที่แจ้งเกิดช้า)

ต้องทำภายในกี่วัน

หากไม่ดำเนินเรื่องแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับแต่ตั้งวันที่เด็กเกิด จะมีค่าปรับเป็นเงิน 1,000 บาท

ใครเป็นผู้แจ้งเกิดเด็กได้บ้าง

บิดา, มารดา, เจ้าของบ้าน (ที่เด็กเกิดหรือที่ต้องการย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้าน) หรือใครก็ได้ที่ได้รับสิทธิ์มอบหมาย

เอกสารที่ใช้ สำหรับการทำเรื่องแจ้งเกิด

  1. บัตรประจำตัวประชาชนของพ่อและแม่เด็ก
  2. บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มาแจ้งเกิด หรือ ผู้ที่ได้รับมอบอำนาจดำเนินเรื่องแทน
  3. หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร 1/1) ที่ออกโดยสถานพยาบาล
  4. สำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าบ้าน ที่ต้องการย้ายชื่อเด็กเข้ามา

ขั้นตอนในการแจ้งเกิดเด็ก

  • ไปยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่นายทะเบียนท้องที่ (ที่เด็กเกิด)
  • นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบเอกสารและความถูกต้องของหลักฐานต่าง ๆ
  • จากนั้นนายทะเบียนจะทำการลงข้อมูลในสูติบัตรและจะเพิ่มชื่อเด็กไปในทะเบียน รวมถึงในสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าของบ้านด้วย
  • ทำการมอบสูติบัตรตอนที่ 1 และมอบสำเนาทะเบียนบ้านคืนแก่ผู้ที่มาแจ้ง

หากแจ้งเกิดช้าต้องทำอย่างไร

ในกรณีที่คุณมาแจ้งเกิดเกิดระยะเวลาที่กำหนด นอกจากจะต้องเตรียมเงินไปแล้ว 1,000 บาท คุณจะต้องเตรียมเอกสารต่อไปนี้ด้วยนะคะ
เอกสารที่ต้องใช้ ในกรณีที่แจ้งเกิดเกินกำหนด

  • ใช้เอกสารเช่นเดียวกับ เอกสารที่ใช้แจ้งเกิดทั่วไปตามที่กล่าวไว้ในข้อ 1-4
  • ต้องนำพยานบุคคลที่รับรองมาด้วย อาจจะเป็นผู้ทำคลอด ผู้เห็นการเกิด (ซึ่งจะต้องมีฐานะที่มั่นคง เชื่อถือได้) และพยานต้องมีภูมิลำเนาตามที่อยู่ที่สามารถติดต่อได้ (ไม่น้อยกว่า 5 ปี) โดยจะต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชนของจริง มายื่นต่อนายทะเบียน หรือเป็นข้าราชการสัญญาบัตร 2 คน

 

 

 

Visitors: 734,538